สงวนลิขสิทธิ์
๒๕๕๑-๒๕๕๓ โดย ศูนย์ธรรมชาติศึกษาไทย แก้ไขล่าสุด มกราคม ๒๕๕๓
ศูนย์ธรรมชาติศึกษาไทย
THAI NATURE EDUCATION CENTER
เรียนรู้ธรรมชาติเพื่อชีวิต
ห้องเรียนพันธุ์พืช
ธรรมชาตินานาสัตว์
ห้องเรียนนิเวศวิทยา
ห้องเรียนชุมชนท้องถิ่น
ป่าหัวนาคือป่าใช้สอยส่วนตัวของคนใน ชุมชนที่แต่ละคนจับจองไว้เมื่อราวแปด สิบปีก่อน ป่าเหล่านี้เคยผ่านการใช้ประโยชน์ที่ดิน มาหลายรอบ แต่ต้นไม่ใหญ่จะไม่ถูกตัด ในยุคฝิ่นรุ่งเรืองเคยถูกปลูกกัญชา ถัดมาปลูกปอ ต่อมาปลูกมันสำปะหลัง ระยะยี่สิบปีที่ผ่านมาไม่ถูกใช้ประโยชน์ ทำให้ป่าทดแทนอย่างรวดเร็ว ป่าทำหน้าที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของแต่ ละคน และยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิง แหล่งไม้สร้างบ้านอีกด้วย ป่าเหล่านี้ยังเรียกอีกชื่อว่า ป่าเหล่า อีกด้วย ตั้งแต่วัยเด็กแล้วป่ายังรกทึบสร้าง จินตนาการให้ผมในนามป่าแห่งผู้กล้า อีกด้วย สิ่งนี้เองที่ทำให้วันวานชัดขึ้นและมีค่าไม่รู้จบ
จากวันวาน...สามัญสำนึก
ไอชื้นของป่าดิบแล้งหลังฝนตกเมื่อวาน มาพร้อมกับความอบอ้าว เหงื่อที่หลังผมเริ่มเปียกชุ่มสร้างความรำคาญพร้อม ๆ กับการรังควานของยุงป่าที่กระหายเลือดผู้บุกรุกแปลกหน้า ทำให้สมาธิในการถ่ายภาพเห็ดเด็ก ๆ ของผมเริ่มสั่นคลอน หลายภาพสั่นไหวใช้การไม่ได้ ผมมีเวลาสามวันในการสำรวจเห็ดป่าที่ป่าชุมชนแห่งนี้ ด้วยเวลาที่จำกัดแต่ป่ามันกว้าง อีกทั้งต้องคุยกับปราชญ์ผู้รู้ ทำให้ผมหวั่นว่าข้อมูลที่ได้จะน้อยเกินไป แต่ยังไงก็ตามผมยังโชคดีมากที่ฟ้าฝนอากาศเป็นใจ ผมมาตรงช่วงเวลาที่เห็ดออก และเห็นคนในชุมชนเก็บเห็ดในป่า เห็ดหลายชนิดเร่งเจริญเติบโตหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงไปนาน ผมมาครั้งนี้แม้มาเยี่ยมบ้านเกิดแต่ก็เอาหัวใจและกายมาอุทิศเพื่อชุมชน ด้วยการสำรวจเห็ด สัตว์ป่า พรรณไม้ แมลง แมงมุม ในงานที่ผมถนัดและทำต่อเนื่องมานาน แม้สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านที่นี่จะมองข้ามและไม่ใส่ใจ แต่ในสายตาผมสิ่งเหล่านี้กลับมีค่า และเป็นคุณค่าที่ชาวบ้านมองไม่เห็น สิบหกปีที่จากบ้านมา กลับมาที่บ้านอีกครั้ง ความคิดของคนในชุมชนเปลี่ยนไปในทางตักตวงมากกว่าให้ เห็นเงินมากกว่าคุณค่าทางใจและความรู้เพื่อธรรมชาติ ผมหวังเพียงว่างานที่ทำจะเป็นก้าวเล็ก ๆ ในการตอบแทนบ้านเกิด และให้ในสิ่งที่ผมมี แม้คนอื่นจะไม่ต้องการมากนัก แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร อย่างน้อยก็เพื่อป่าที่เคยเก็บหาเห็ดในตอนเด็ก
ผมเริ่มต้นสำรวจจากป่าคุ้นเคยในวัยเด็ก นั่นคือป่าหัวนาซึ่งเป็นป่าที่พวกเราหาเห็ดกินในฤดูฝนในช่วงหน้านา ฝนตกเช่นนี้ทำให้เห็ดไคขึ้นทั่วไปไม่เฉพาะโพน(จอมปลวก) เท่านั้น นอกจากนั้นยังพบเห็ดผึ้ง เห้ดปลวกไฟ เห็ดเกลือ ซึ่งเป็นเห็ดกินได้และรสชาติดี ทำให้ได้อาหารค่ำและอาหารเช้าของวันรุ่งขึ้น แม้สมองจะมีเห็ดที่อยากเจอมากมายแต่กลิ่นไอวันเก่าเมื่อเยาวัยยังชัดเจนอยู่ในป่าแห่งนี้ พร้อมกับได้ลิ้มรสของความสุขแห่งการคืนถิ่นอีกครั้ง
เห็ดป่าอาหารอันหลากหลายในฤดูฝน หลังจากฝนแรกผ่านไปไม่นาน นำพาเห็ดถอบ(เห็ดเผาะ) ขึ้นกระจายในป่าเต็งรัง หรือป่าโคก เป็นอาหารอันธรรมดาของคนที่นี่ แต่เป็นอาหารที่คนเมืองอยากชิมเหลือเกิน ฝนเดือนแปดในเวลานี้นำความชุ่มชื้นมาให้ป่าอีกครั้ง เห็ดถอบแตกออกเป็นรูปดาวและโปรยสปอร์ไปทั่วป่า รอวันเวลางอกใหม่ปีหน้า ส่วนเห็ดชอบฝนช่วงนี้ที่เราพบ เช่น เห็ดโคนต่าง ๆ เห็ดผึ้งต่าง ๆ เห็ดระโงก เห็ดไค เห็ดเกลือ เห็ดก่อ เห็ดมันปู เป็นต้น
เห็ดและราขนาดใหญ่
เห็ดกินได้กับวันวารที่ชัดเจนในป่าดงใหญ่ สู่อนาคตอันปวดร้าว
จากมุมมองของนักสำรวจสู่งานวิจัยชุมชน นอกจากประเด็นความหลากหลายของเห็ดในป่าชุมชนดงใหญ่ ยังมีประเด็นที่เกิดจากการสำรวจร่วมกับผู้รู้ชุมชน เช่น ภูมิปัญญาในการค้นหา วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของแหล่งอาศัยของเห็ด การเก็บเห็ด นิเวศวิทยาของถิ่นอาศัย แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับคนเก็บเห็ดคือ ป่าถูกทำลาย พื้นที่ป่าที่ถูกทำลายมากขึ้นส่งผลต่อจำนวนของเห็ดกินได้ด้วย โดยเฉพาะป่าทามถูกทำลายเกือบหมดเนื่องจากน้ำท่วมหลังจากการ สร้างฝายเก็บน้ำ โดยเฉพาะเห็ผึ้งทาม เห็ดก่อ เห็ดไค การศึกษาผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในป่าทามหลัง การสร้างเขื่อน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งศึกษาและติดตาม เพื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูได้ในบางแห่ง รวมทั้งการหาทางป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ในป่าทามอีก หลายชนิด จากประเด็นของเห็ดสามารถแตกประเด็นได้อีกมาก ซึ่งกำลังต้องการหานักวิจัยที่สนใจต่อยอดในงานให้ชุมชนต่อไป
สายฝนเย็นซ่อนความร้าวลึกในป่าดงใหญ่ ผลกระทบจากการสร้างฝายและคลองส่งน้ำ สร้างบาดแผลกับป่าจนไม่อาจเยียวยา ไปพร้อม ๆ กับโฆษณาของทางการว่าจะมีน้ำใช้ทำนาและเกษตรอื่น ๆ ในหน้าแล้ง แต่วิกฤติแล้งปีนี้หลายพื้นที่ชลประทานถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำนาปรัง เขื่อนและฝายงดปล่อยน้ำ และแน่นอนนักที่อนาคตของชลประทานแห่งนี้จะเป็นเช่นนั้น นั่นแสดงว่าเราไม่อาจรอคอยประโยชน์จากฝายและคลองแห่งนี้ แต่ที่ปวดร้าวคืออนาคตที่ฉาบไว้ความหวังลมแล้ง แต่ปัจจุบันป่าอีกหลายแห่งกำลังจะถูกซอยย่อยออกเป็นคลองส่ง น้ำสาขา นั่นหมายความว่าจะไม่มีป่าอีกแล้ว ชายกลางคนคนหนึ่งถามเจ้าหน้าที่ชลประทานว่า นี่สิบกว่าปีแล้วที่ทำโครงการนี้ อีกนานไหมกว่าจะได้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่ตอบพลางอมยิ้มเฝื่อน ๆ ว่า ในช่วงชีวิตลุงไม่รู้จะได้เห็นหรือป่าว ชายชาวนากลางคนฟังด้วยใจปวดร้าว
ภาพบน : เห็ดเกลือ เห็ดกินได้ รสชาติดีที่พบได้บ่อยในช่วงการ สำรวจ
ภาพขวา : ต้นยางนาในป่ารอยต่อระหว่างป่า เต็งรังและป่าทาม มีน้ำมันยางแหล่งเชื้อเพลิงของชุมชน
ฅนไทบ้าน: เรื่องและภาพ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ภาพบน : ภาพจาก google earth บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ดัดแปลงจากทางเดินไปทุ่งนาและหาของป่า
ภาพขวา : ผู้ช่วยนักวิจัยกำลังมองหาเห็ดในป่าทาม ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ภาพขวา : สภาพป่าทามในเส้นทางศึก ษาธรรมชาติ ซึ่งหน้าดินถูกนำไปปรับปรุง ดินในนาข้าว
ภาพซ้าย : เห็ดขนาดเล็กในสกุล Hygrocybe
ภาพขวา : สภาพป่าโคกหรือป่าเต็งรัง และถนนตัดผ่านป่าดงใหญ่
ภาพซ้าย : ตลาดนัดชุมชน แหล่งรวมเห็ดจากป่าในฤดูฝน
มุมสาระความรู้ กล้วยไม้ เฟิน ไม้ยืนต้น ไม้เลื้อย หญ้า เห็ดราขนาดใหญ่ มอส ไลเคน สาหร่าย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก แมลง แมงมุม แมงป่อง กิ้งกือ ไส้เดือน ปลา หอยแห่งท้องทะเล หอยน้ำจืด หอยทากบก ปู กุ้งและกั้ง ป่าไม้เมืองไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาวะโลกร้อน สึนามิ
-